กระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนาศักยภาพการปลูกถ่ายอวัยวะ เพื่อให้ผู้ป่วยในระดับเขตสุขภาพเข้าถึงบริการด้านปลูกถ่ายอวัยวะ เนื้อเยื่อ และดวงตา ช่วยลดอัตราเสียชีวิตและความพิการ สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
วันนี้ (11 ตุลาคม 2562) ที่โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข บรรยาย “นโยบายการปลูกถ่ายอวัยวะในประเทศไทย” ในงานประชุมวิชาการกลางปี โดยสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย เพื่อเสริมความรู้ให้กับแพทย์ พยาบาลและบุคลากรสาธารณสุข และให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้สนับสนุนและผลักดันระบบบริการสาขาการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะมาตั้งแต่ ปี 2559 ถือเป็น 1 ใน 20 สาขาของแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีเป้าหมาย “เพิ่มการปลูกถ่าย ลดการตาย ได้คิวเร็ว” โดยกรมการแพทย์เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมทั้งพัฒนาทีมจัดเก็บอวัยวะ เนื้อเยื่อ และการปลูกถ่ายไตและดวงตาในทุกเขตสุขภาพ ส่งผลให้เพิ่มจำนวนผู้บริจาคอวัยวะภาวะสมองตายอย่างต่อเนื่อง ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเพิ่มมากขึ้น ในปีงบประมาณ 2562 ผู้บริจาคอวัยวะสมองตายเพิ่มเป็น 293 ราย ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเพิ่มเป็น 675 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ได้รับการปลูกถ่ายไต และมีการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา 984 ราย
“การพัฒนาระบบบริการด้านปลูกถ่ายอวัยวะและดวงตาในเขตสุขภาพ จะช่วยเพิ่มความสะดวกแก่ประชาชน ไม่ต้องเดินทางมาศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะที่ส่วนกลาง ลดระยะเวลารอคอย ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล ทุกชีวิตมีค่า ถ้าเราลดการเสียชีวิตได้เท่าไหร่ ถือว่าเราทำความสำเร็จร่วมกัน” ดร.สาธิตกล่าว
ทั้งนี้ การปลูกถ่ายอวัยวะและดวงตา เป็นการรักษาที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการ และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาอื่น ผู้รอคอยการปลูกถ่ายอวัยวะและดวงตามีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยข้อมูลเดือนกันยายน 2562 มีผู้รอรับอวัยวะถึง 6,311 ราย และผู้รอรับดวงตา 13,120 ราย ขณะที่สามารถปลูกถ่ายอวัยวะได้เพียงปีละ 500 – 700 ราย ปลูกถ่ายกระจกตาปีละ 700–800 ราย จำเป็นต้องเร่งพัฒนาการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ โดยเฉพาะไตและดวงตาให้เข้าถึงมากที่สุด ... ที่มา สำนักสารนิเทศ สป.สธ.
Nike Shop china