Hfocus (เจาะลึกระบบสุขภาพ)

  1. เปิดวิจัยถ่ายโอน รพ.สต. นวัตกรรมเชิงระบบสุขภาพของชุมชน

    เปิดวิจัยถ่ายโอน รพ.สต. นวัตกรรมเชิงระบบสุขภาพของชุมชน

     

    วิจัยถ่ายโอน รพ.สต. : นวัตกรรมเชิงระบบ  งอกงามท่ามกลางความท้าทาย ‘ระบบสุขภาพของชุมชน’

                 

    ภายใต้การปฏิรูประบบสุขภาพท้องถิ่นครั้งใหญ่ จากการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตลอดกว่า 2 ปีที่ผ่านมา น่าสนใจว่ามี รพ.สต. และ อบจ. จำนวนไม่น้อย ที่ได้นำนวัตกรรมไปปรับใช้เพื่อพลิกฟื้นระบบสุขภาพปฐมภูมิ สร้างโอกาสในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยในการประชุมวิชาการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ปี 2568 เวทีเสวนาหัวข้อ “นวัตกรรมงานวิจัยในระบบสุขภาพปฐมภูมิ: การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาโดยท้องถิ่น” สะท้อนให้เห็นรูปธรรมของเรื่องนี้อย่างชัดเจน

    นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า การมองมิติของระบบสุขภาพควรต้องมองในมุมใหม่ จากเรื่องที่ว่าด้วย ‘มด หมอ หยูกยา’ หรือมองเฉพาะเรื่องโรคและการแพทย์ คงไม่เพียงพอ แต่ควรมองมิติสุขภาพให้เป็นเรื่อง ‘สุขภาวะ’ ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ใจ สังคม ปัญญา และเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล เน้นกระบวนการ ‘สร้างนำซ่อม’ ที่สานพลังมาจากทุกภาคส่วนในสังคม จะเห็นได้จาก รพ.สต. ที่เปลี่ยนสังกัดมาอยู่กับท้องถิ่น นับเป็นจุดคานงัดที่สามารถใช้ทรัพยากรของ อปท. และลงไปทำงานในพื้นที่ได้มากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากตัวอย่างผลของการทำงานวิจัยคือนวัตกรรมเชิงพื้นที่ เช่น ชุมชนแหลมสนอ่อน จ.สงขลา ที่สามารถพัฒนาการทำงานร่วมกันในระดับอำเภอ โดยมีแผน
    สุขภาวะรายบุคคลรองรับสังคมสูงวัย ผ่านระบบกลุ่ม IMED@HOME หรือที่ รพ.สต.บ่อเงิน จ.ปทุมธานี เกิดข้อตกลงของชุมชนในการขับเคลื่อนเรื่องระบบการส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล และ รพ.สต.บ้านเกาะมะพร้าว จ.ภูเก็ต ที่ทุกภาคส่วนในชุมชน มาร่วมกันจัดระบบการป้องกันพื้นที่เสี่ยงภายในเกาะ

    รศ.ดร.ธัชเฉลิมสุทธิพงษ์ประชา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เล่าถึงโครงการวิจัยรูปแบบการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพปฐมภูมิได้ดีขึ้นว่า ได้พัฒนารูปแบบการถ่ายโอนฯ ผ่าน
    11 พื้นที่ อบจ. นำร่อง เพื่อทดลองการยกระดับการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิของ อบจ. ด้วยหลักเวชศาสตร์ครอบครัว และออกแบบระบบบูรณาการยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขของ อบจ. ร่วมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้กลไกคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ซึ่งวัตถุประสงค์ของงานวิจัยคือต้องการเซ็ทระบบให้ อบจ. มีช่องทางในการบูรณาการกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และการจัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) โดยการทำงานด้านสาธารณสุขต้องมีมาตรฐานตามกฎหมาย ตามตัวชี้วัด ซึ่งผลจากการศึกษาวิจัยนำมาสู่ความสำเร็จที่จับต้องได้

    ทั้งผลงานตัวชี้วัดที่เพิ่มขึ้น และเกิดตัวอย่างนวัตกรรมเชิงระบบที่เกิดขึ้นจากพื้นที่ต่างๆ มีการนำกิจกรรมที่ดำเนินการในช่วงการศึกษาวิจัยบรรจุไว้ในแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่ และเริ่มขับเคลื่อนการดำเนินการแล้ว เช่น อบจ.ลำปาง อบจ.น่าน อบจ.เพชรบูรณ์ อบจ.อุบลราชธานี รวมถึงนำนวัตกรรมการบริหารจัดการไปใช้ปฏิบัติจริง เช่น การจัดตั้งกลุ่มพื้นที่สุขภาพในระดับอำเภอ เช่น อบจ.ปัตตานี อบจ.อุบลราชธานี ตลอดจนนำแนวคิดเวชศาสตร์ครอบครัวและแนวคิดการจัดการเครือข่ายไปใช้จัดบริการสุขภาพปฐมภูมิในหลายๆ อบจ. และขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายผลการวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

    ส่วนด้านการขับเคลื่อนกลไกระบบสุขภาพท้องถิ่น นางฐิตารีย์ เชื้อพราหมณ์ อบจ.สงขลาสะท้อนภาพว่า จากประสบการณ์ทำงาน ทำให้ได้เรียนรู้ว่าปัญหาที่สำคัญที่สุดสำหรับการถ่ายโอนคือการสื่อสารที่ยังน้อยเกินไป จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ อบจ.สงขลา ต้องดำเนินการสื่อสาร พูดคุยกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนสามารถเกิดการแก้ปัญหา เช่น กรณีเด็กที่มีปัญหาทางด้านสายตา ที่ผ่านมามีเพียงแค่ 0.09% ที่เข้าถึงสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดังนั้นการขับเคลื่อนเรื่องนี้จึงเริ่มต้นโดยการสื่อสาร อบจ.สงขลา ได้ประสานการทำงานร่วมกับ สปสช. แล้วเข้าไปดำเนินการพูดคุยกับประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จนท้ายที่สุดมีเด็กได้รับแว่นสายตาเกินกว่า 100% เมื่อเทียบกับการจัดโครงการในปีแรก โดยปีที่ผ่านมา ดำเนินการไปทั้งหมด 225 แห่ง มีเด็กผ่านการคัดกรองสายตากว่า 3 หมื่นคน และมีเด็กได้รับแว่นสายตากว่า 1,400 คนซึ่งปีนี้จะมีการขยายบริการไปยังกลุ่มเด็กพิเศษ เด็กที่อยู่ในระบบของกรมราชทัณฑ์ และกลุ่มพระภิกษุสงฆ์

    ด้าน นายเจฏนิพัฒนิ์ วุฒิสิงห์ รพ.สต.บ้านเกาะแดง จ.ปราจีนบุรีกล่าวว่า การถ่ายโอน รพ.สต. ทั้งหมด 94 แห่ง
    ไปยัง อบจ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นการถ่ายโอนแบบ 100% จึงต้องใช้ความพยายามในการปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงานร่วมกับชุมชนมากขึ้น เช่น มีการจัดบริการสุขภาพเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่จากใจ รพ.สต. ใน อ.กบินทร์บุรี ให้กับประชาชน โดยดำเนินการออกหน่วยเคลื่อนที่ดูแลด้านทันตกรรม จัดมหกรรมสร้างสุขภาพดีผ่านการ เดิน วิ่ง เต้น ออกกำลังกายสร้างสุขภาพ 4 มุมเมือง มีการแจกผ้าอ้อมให้ผู้สูงอายุถึงที่บ้าน มีการจัดมหกรรมแพทย์แผนไทยสัญจร เข้าไปให้บริการเชิงรุกในชุมชน ฯลฯ ทั้งนี้เมื่อโครงการต่างๆ ดังกล่าวประสบผลสำเร็จ จึงได้รับโอกาสให้มีการบรรจุตำแหน่งแพทย์แผนไทยเพิ่มให้กับ รพ.สต. ในปี 2567 ขณะที่เจ้าหน้าที่กลุ่มวิชาชีพพยาบาลก็มาทำเรื่อง ‘รพ.สต.ใกล้บ้าน พยาบาลชุมชน’ โดยผลักดันเรื่องกองทุนส่งใจถึงไต ซึ่งได้รับงบประมาณมาจากการจำหน่ายเสื้อและการบริจาค และนำเงินดังกล่าวไปจัดบริการรถรับ-ส่งให้ผู้ป่วยโรคไตเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีโครงการเรือธง เช่น อบจ.ส่วนหน้าปราจีนโมเดล โดยมีการจัดตั้งกลุ่มพื้นที่สุขภาพระดับอำเภอเพื่อดูแล รพ.สต. ทั้ง 94 แห่ง ใน 7 อำเภอ ซึ่งทำให้เกิดการทำงานที่เชื่อมประสานกัน และมีความคล่องตัวมากขึ้น

    นางเสาวนีย์ อุ่ยตระกูล อบจ.ระยองกล่าวว่า สำหรับ จ.ระยอง มีการถ่ายโอน รพ.สต.จำนวน 95 แห่งมาสังกัด อบจ.ระยอง ซึ่งเป็นการถ่ายโอนแบบ 100% โดยจุดเริ่มต้นของการทำงานในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งนี้คือ การแสวงหาความรู้ใหม่ด้วยการวิจัย และผลจากการวิจัยทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมต้นแบบในการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิ รวมทั้งมีการมองภาพอนาคตที่พึงประสงค์ของระบบสุขภาพปฐมภูมิของ จ.ระยอง ในอีก 5 - 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเมื่อเห็นภาพอนาคตแล้วจึงมีการวางแผนร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การคิดนวัตกรรมต่างๆ เช่น นวัตกรรมเชิงโครงสร้างผ่านการใช้คณะกรรมการ กสพ. ให้เต็มประสิทธิภาพในการทำงาน ทุกอย่างที่เคยติดเงื่อนไข หากมีเหตุผลรองรับเพียงพอ ก็สามารถนำไปขอมติจาก กสพ. ได้ นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ โดยมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นประธาน และมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนมาเป็นคณะกรรมการฯ มีการแต่งตั้งอนุกรรมการด้านสุขภาพช่องปาก คณะกรรมการพัฒนาแพทย์แผนไทย คณะทำงานพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านสาธารณสุข เพื่อพัฒนาระบบข้อมูล รวบรวมข้อมูล และประเมินผลตามตัวชี้วัด หรือตามแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่ของ อบจ.ระยอง รวมทั้งมีการขับเคลื่อน 7 โครงการสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการจัดบริการฟื้นฟูข้อเข้าเสื่อมด้วยแพทย์แผนไทย การพัฒนางานผู้สูงอายุ การสร้างมาบยางพร Premium project การสร้างทีมหมอครอบครัว การทำ NCDs Network Management การทำ Continuity of Care Network Management และสุดท้ายคือ Health Data Visualization หรือการนำ Data Dashboard เชื่อมโยงฐานข้อมูล HDC กับฐานข้อมูลอื่นๆ เพื่อใช้ในการกำกับดูแล รพ.สต. ของ อบจ.ระยอง

    ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส.กล่าวว่า การที่จะทำให้ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิเกิดความยั่งยืนนั้น การทำงานวิจัยเชิงระบบและเชิงนโยบายต้องให้ความสำคัญกับระบบนิเวศ (Ecosystem) เนื่องจากสภาพแวดล้อมเรื่องต่างๆ มีความเชื่อมโยงและมีผลกระทบซึ่งกันและกัน ไม่สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงเพียงแค่จุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น ซึ่งงานวิจัยของ สวรส. เน้นการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับหลักฐานเชิงประจักษ์ และควรมีตัวเลขยืนยันถึงการเปลี่ยนแปลงก่อนและหลังหากมีนวัตกรรมการบริหารจัดการที่เกิดขึ้นในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยมีนักวิจัยในพื้นที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่คาดหวัง คือการส่งมอบผลลัพธ์ที่เกิดเป็นนวัตกรรมเชิงระบบและนวัตกรรมบริการที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการสุขภาพปฐมภูมิได้ดีขึ้น

    ตัวอย่างนวัตกรรมเชิงระบบที่ผู้ร่วมเสวนานำเสนอ สะท้อนให้เห็นว่าระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิแบบบูรณาการ สามารถเกิดขึ้นได้จริง หากมีการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันตั้งแต่หน่วยบริการสุขภาพระดับท้องถิ่นอย่าง รพ.สต. สังกัด อบจ. โรงพยาบาลชุมชน หน่วยบริหาร เช่น กองสาธารณสุขของ อบจ. สสอ. สสจ. ซึ่งบางจังหวัดมีแผนบูรณาการที่ร่วมกันจัดทำและนำไปปฏิบัติ โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และร่วมกันรับผิดชอบในการให้บริการสุขภาพ มีระบบการประสานการทำงานกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการส่งเสริมระบบบริการสุขภาพ ที่ครอบคลุมการทำงานในทุกมิติ ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การวินิจฉัย การรักษา การฟื้นฟู รวมถึงการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการตามความต้องการในทุกระยะของชีวิต ตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน โดยผลงานวิจัยดังกล่าวได้แสดงถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบบริการปฐมภูมิแบบบูรณาการที่ถูกนำไปใช้จริงในการแก้ไขปัญหาสุขภาพโดยท้องถิ่น

    ข่าวเกี่ยวข้อง :

    -คืบหน้าสางปัญหา “ถ่ายโอนรพ.สต.” ทั้งเพิ่มอัตรากำลังตามกรอบ-การโอนที่ดิน

    -คกก.กระจายอำนาจฯเตรียมประชุม 17 มิ.ย.นี้ เผยปีงบ 69 อบจ.ขอรับการถ่ายโอนเพิ่มเติม 35 จ.

    -สวรส. Kick off 10 จังหวัด ขยายโมเดลถ่ายโอน รพ.สต. ยกระดับบริการสุขภาพปฐมภูมิ

    -ปธ.คณะอนุฯ ตั้งคณะทำงานฯ 1 ชุด ขับเคลื่อนระบบจัดเก็บข้อมูลของ รพ.สต.ถ่ายโอน

    -จับตาภารกิจคณะชุดที่ 6 ในอนุฯถ่ายโอน จ่อระดมสมอง ‘รพ.สต.-อบจ.-สธ.’ วิเคราะห์ปัญหา ‘คน เงิน ของ’

    -"สมพร ใช้บางยาง" ปธ.คณะอนุฯ ตั้ง " 7 คณะทำงานฯ" ขับเคลื่อนกระจายอำนาจสาธารณสุขสู่ท้องถิ่น

     

    presscomdivi Sun, 06/15/2025 - 14:48
  2. กรมสุขภาพจิต แนะประชาชนในพื้นที่สังเกตอาการ ลดความตึงเครียดชายแดนไทย-กัมพูชา

    กรมสุขภาพจิต แนะประชาชนในพื้นที่สังเกตอาการ ลดความตึงเครียดชายแดนไทย-กัมพูชา

     

    กรมสุขภาพจิต ห่วงใยประชาชนในพื้นที่ตึงเครียดเหตุชายแดนไทย-กัมพูชา แนะสร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้เข้มแข็ง หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

     

    วันที่ 15 มิ.ย. นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณพื้นที่ชายแดนที่กำลังเกิดขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพจิตใจของประชาชนในเขตสุขภาพที่ 6, 9 และ 10 ซึ่งอาจทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล ความกลัว และความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นปฏิกิริยาทางจิตใจที่เกิดขึ้นอย่างธรรมชาติเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่มีความเสี่ยงหรือความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากความเครียดเหล่านี้สะสมหรือดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ภาวะหมดไฟ (burnout) ได้ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตโดยรวม

    กรมสุขภาพจิต ขอเน้นย้ำให้ประชาชนใส่ใจสังเกตอาการทางจิตใจของตนเองและสมาชิกในครอบครัว เช่น ความรู้สึกวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้น อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอนไม่หลับ หรือรู้สึกหมดกำลังใจ การดูแลสุขภาพจิตอย่างมีประสิทธิภาพประกอบด้วยการใช้เทคนิคการผ่อนคลายจิตใจ เช่น การฝึกหายใจลึก ๆ การทำสมาธิ หรือการออกกำลังกายเบา ๆ นอกจากนี้ การพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึกกับคนใกล้ชิดยังช่วยลดความโดดเดี่ยวทางอารมณ์และเสริมสร้างระบบสนับสนุนทางสังคม ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้เข้มแข็ง รวมทั้งติดตามข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้อย่างสม่ำเสมอ

    นพ.กิตติศักดิ์  กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณสุข โรงพยาบาล และศูนย์สุขภาพจิตในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและทรัพยากรในการให้บริการดูแลสุขภาพจิตแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว นอกจากนี้ ประชาชนสามารถติดต่อรับคำปรึกษาและความช่วยเหลือได้ผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพจิตในช่วงเวลาวิกฤตนับเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรได้รับความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการดูแลสุขภาพกาย เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาวและเสริมสร้างความมั่นคงของชุมชน

    กรมสุขภาพจิต ขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันสร้างบรรยากาศแห่งความสงบสุข หลีกเลี่ยงการเผยแพร่ข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการยืนยันหรืออาจก่อให้เกิดความตื่นตระหนก รวมถึงส่งเสริมความเข้าใจ ความอดทน และความสามัคคีในสังคม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางใจให้กับตนเอง ครอบครัว และชุมชน โดยกรมสุขภาพจิตจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมดำเนินมาตรการสนับสนุนอย่างเต็มกำลังเพื่อให้ประชาชนสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ที่ท้าทายนี้ไปได้อย่างปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืน

     

     

     

    presscomdivi Sun, 06/15/2025 - 14:25
  3. สธ.แจ้ง ‘จัดตำแหน่ง-แต่งตั้งบุคคล’ ดำรงตำแหน่งตามกลุ่มงานใหม่ สอดคล้องปรับโครงสร้างล่าสุด

    สธ.แจ้ง ‘จัดตำแหน่ง-แต่งตั้งบุคคล’ ดำรงตำแหน่งตามกลุ่มงานใหม่ สอดคล้องปรับโครงสร้างล่าสุด

     

    รองปลัดสธ.ลงนามหนังสือแจ้ง “จัดตำแหน่งและแต่งตั้งบุคคล” ให้ดำรงตำแหน่งตามการจัดตั้งกลุ่มงานใหม่ ฯลฯ สอดคล้องปรับโครงสร้าง ภารกิจ หน่วยงานส่วนภูมิภาค ทั้ง สสจ. สสอ. รวมถึงรพศ./รพท. และรพช.  กำชับส่งข้อมูลยังเขตสุขภาพตามกรอบเวลากำหนด พร้อมยกตัวอย่างปรับเกลี่ยอัตรากำลัง

     

    ตามที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ส่งหนังสือเลขที่สธ. 0208.02/ว 4295 ส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1-12 และผู้อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพที่ 1-12 พร้อมทั้งทำสำเนาถึงส่งถึง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ./รพท.) ทุกแห่ง เรื่อง โครงสร้างและภารกิจของหน่วยงานในราชการบริหารส่วนภูมิภาค สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(ปีพ.ศ.2565-2569) โดยมีการจัดตั้งกลุ่มงานใหม่ เพิ่มสายงาน เช่น เพิ่มภารกิจทันตกรรม กลุ่มงานการพยาบาลการรับบริจาค ปลูกถ่ายอวัยวะและเนื้อเยื่อ ฯลฯ นั้น

    (อ่านข่าว : สธ.แจ้งปรับโครงสร้างทั่วประเทศ ตั้งกลุ่มงาน เพิ่มสายงาน พร้อมตารางเปรียบเทียบ ‘เก่า-ใหม่’)

    ล่าสุด นพ.ภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในหนังสือที่สธ. 0208.02/ว 4299 เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2568ที่ผ่านมาส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1-12 และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เรื่อง การดำเนินการจัดตำแหน่งและแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามการจัดตั้งกลุ่มงานใหม่ หรือเปลี่ยนชื่อกลุ่มงาน/หน่วยงาน สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

    สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) แจ้งว่า ตามหนังสือเลขที่สธ. 0208.02/ว 4295 ได้ดำเนินการทบทวนโครงสร้าง ภารกิจ หน่วยงานในราชการบริหารส่วนภูมิภาค ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(รพ.ศ/รพท.) โรงพยาบาลชุมชน(รพช.) เพื่อให้สอดคล้องกับบทบาท ภารกิจ ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพรเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด การยกระดับสถานบริการ การพัฒนาศักยภาพการบริการ การจัดตั้งกลุ่มงานใหม่ เป็นต้น

    รายละเอียดคือ 1.โครงสร้าง สสจ. สสอ. และภารกิจด้านทันตกรรม ใน รพศ./รพท. สังกัด สป.
    2.รายชื่อหน่วยงานที่ได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งภารกิจด้านทันตกรรม ตามมติ อ.ก.พ. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 2/68 และ ครั้งที่ 3/68

    ดังนั้น เพื่อให้บัญชีตำแหน่งและการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเป็นไปตามโครงสร้าง ภารกิจที่ประกาศ จึงขอให้หน่วยงานดำเนินการจัดตำแหน่งและแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามการปรับโครงสร้างฯ ตามขั้นตอน วิธีการ ดังนี้ 3.หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินการกรณีการปรับระดับหน่วยงาน หรือจัดตั้งกลุ่มงานใหม่ หรือเปิดหน่วยงานใหม่ หรือเปลี่ยนชื่อกลุ่มงาน/หน่วยงาน
    4.1 คู่มือการบันทึกข้อมูลการจัดตำแหน่งและแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามโครงสร้างฯ สสจ. และ สสอ.
    4.2 คู่มือการบันทึกข้อมูลการจัดตำแหน่งและแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามโครงสร้างฯ ภารกิจด้านทันตกรรม ใน รพศ./รพท.

    ภายใต้โครงสร้างและกรอบอัตรากำลังที่สป.สธ.กำหนด และสรุปการจัดตำแหน่งและแต่งตั้งบุคคลฯ ดังกล่าว ส่งเขตสุขภาพรวบรวมและส่งให้ สป.สธ. ดังนี้ 5. แบบฟอร์มสรุปการจัดตำแหน่งและแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามโครงสร้างฯ ภายในวันที่ 31 ก.ค.2568  เพื่อเสนอ อ.ก.พ.สป.สธ./อ.ก.พ. กระทรวงสาธารณสุข พิจารณาต่อไป

    สำหรับเจ้าหน้าที่บางหน่วยงานที่ยังไม่มีสิทธิ์เข้าถึงเมนูจัดคนลงโครงสร้างและกรอบอัตรากำลัง สามารถแจ้งรายชื่อผู้ใช้ระบบสารสนเทศ เพื่อการบริหารจัดการบุคลากรสาธารณสุข(HROPS) สำหรับบันทึกข้อมูลการจัดตำแหน่งและแต่งตั้งบุคคลตามนี้  6. แบบฟอร์มแจ้งรายชื่อผู้ใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการบุคลากรสาธารณสุข (HROPS) สำหรับบันทึกข้อมูลการจัดตำแหน่ง และส่งให้สป.สธ. ภายในวันที่ 30 มิ.ย.2568 ทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected]

     

    presscomdivi Sun, 06/15/2025 - 12:51
  4. เปิดงานวิ่งก้าวท้าใจฯ ผลักดันแนวคิด ‘เวชศาสตร์วิถีชีวิต’ ตั้งเป้าเพิ่มกิจกรรมทางกาย 85% ในปี73

    เปิดงานวิ่งก้าวท้าใจฯ ผลักดันแนวคิด ‘เวชศาสตร์วิถีชีวิต’ ตั้งเป้าเพิ่มกิจกรรมทางกาย 85% ในปี73

     

    “สมศักดิ์” เปิดงานวิ่ง  “ก้าวท้าใจ 10K Thailand Championship 2025 Presented by LG”  ผลักดันแนวคิด “เวชศาสตร์วิถีชีวิต” สู่การปฏิบัติจริง มั่นใจทำให้ร่างกายแข็งแรง -ช่วยลดความเครียด ป้องกัน NCDs  คนไทย 30% กิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ เร่งรณรงค์มุ่งเป้าเพิ่มขึ้นให้ได้ 85% ภายในปี 2573

     

    เมื่อเวลา 04.30 น. วันที่ 15 มิ.ย. 2568 ที่สนามหลวง กรุงเทพฯ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวในพิธีเปิดการแข่งขันวิ่ง “ก้าวท้าใจ 10K Thailand Championship 2025 Presented by LG” ว่า  กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะทำให้  คนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยจะผลักดันแนวคิด เวชศาสตร์วิถีชีวิต หรือ Lifestyle Medicine สู่การปฏิบัติ ซึ่งหากพวกเราออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตัวตามแนวคิดเวชศาสตร์วิถีชีวิต นอกจากจะช่วยให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง  ช่วยป้องกันและแก้ปัญหาโรค NCDs แล้ว  ยังช่วยลดความเครียด  และทำให้มีสุขภาพจิตดีอีกด้วย เชื่อว่า ทุกท่านจะมีความสุขกับกิจกรรมในครั้งนี้ เนื่องจากเส้นทางการวิ่ง ผ่านจุดที่สำคัญของเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีประวัติศาสตร์  สถาปัตยกรรมที่สวยงาม ทรงคุณค่า และเต็มไปด้วยเอกลักษณ์ของประเทศ

    “ขอให้นักวิ่งที่ร่วมแข่งขัน ทั้งประเภท 10 กิโลเมตร และ 5 กิโลเมตร รวมกว่า 8,000 คน วิ่งด้วยความสุข ปลอดภัย  และขอให้เชิญชวนกันมาออกกำลังกาย และปฏิบัติตัวตามแนวคิดเวชศาสตร์วิถีชีวิต เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง ทั้งร่างกายและจิตใจต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าว 

    นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าวว่า สสส. มุ่งลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs โดยเฉพาะการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพดีตลอดช่วงชีวิต จากรายงานสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ในรอบ 12 ปี (ปี 2555-2566) พบระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอต่ำกว่า 70% สะท้อนว่ายังมี 30% ไม่สามารถมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอได้ การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เน้นสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอ ในรูปแบบการเดิน-วิ่งที่เข้าถึงง่าย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพในระยะยาว และสร้างกระแสสุขภาพดีในระดับประเทศ สอดรับยุทธศาสตร์ Active Society ที่ใช้กิจกรรมรณรงค์สร้างประสบการณ์และค่านิยม ให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายผ่านกิจกรรมวิ่งที่มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล มุ่งเป้าเพิ่มอัตราการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของคนไทยให้อยู่ที่ 85% ภายในปี 2573

     

    presscomdivi Sun, 06/15/2025 - 10:42
  5. สสจ.อำนาจเจริญ ติดตามเงิน ‘ค่าเสี่ยงภัยโควิด’ ตกค้างจังหวัดเดียว ล่าสุดอยู่ขั้นตอนสำนักงบประมาณ

    สสจ.อำนาจเจริญ ติดตามเงิน ‘ค่าเสี่ยงภัยโควิด’ ตกค้างจังหวัดเดียว ล่าสุดอยู่ขั้นตอนสำนักงบประมาณ

     

    สสจ.อำนาจเจริญ ลั่น สธ.ไม่นิ่งนอนใจ หลังบุคลากรยังไม่ได้ “ค่าเสี่ยงภัยโควิด” จังหวัดเดียวกว่า 1 พันคน เงินค้างอีก 46 ล้านบาท จากปัญหาข้อมูลคลาดเคลื่อน  ที่ผ่านมาติดตามเรื่องเต็มที่ ล่าสุดอยู่ที่สำนักงบประมาณ พร้อมแจงขั้นตอนดำเนินการต่างๆ  ชี้เห็นใจบุคลากรทุกคน เพราะเป็นขวัญกำลังใจการทำงาน

     

     หลังจากกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิดให้กับบุคลากร ที่ปฏิบัติงานตามเงื่อนไขที่กำหนด เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบงบประมาณค่าตอบแทนให้แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานช่วงโควิด ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – เดือนกันยายน 2565 รวมงบฯ กว่า 3,849.30 ล้านบาท แต่ติดจ.อำนาจเจริญ เนื่องจากมีปัญหาที่เอกสารจนบัดนี้ยังมีบุคลากรภายในจังหวัดไม่ได้รับค่าเสี่ยงภัยโควิดนั้น 

     

    (ข่าวเกี่ยวข้อง : พยาบาลโอด! ค่าเสี่ยงภัยโควิดตกหล่น เหลือ “อำนาจเจริญ” วอนผู้บริหารสธ.ช่วยเหลือ อย่ามองข้ามคนทำงานด่านหน้า)

     

    วันที่ 15 มิ.ย.  นพ.ปฐมพงศ์ ปรุโปร่ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ เปิดเผยกับ Hfocusว่า ตามที่ยังมีบุคลากรในจังหวัดอำนาจเจริญ ทั้งในโรงพยาบาลอำนาจเจริญ และโรงพยาบาลชุมชนประสบปัญหายังไม่ได้รับค่าเสี่ยงภัยโควิด  เนื่องจากประสบปัญหาระบบข้อมูลคลาดเคลื่อน  ที่ผ่านมาได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โดยกองสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) มาโดยตลอด  พบยอดเงินที่ค้างอยู่ประมาณ 46 ล้านบาท และบุคลากรประมาณ 1,064 คน 

    อย่างไรก็ตาม จากการติดตามข้อมูลร่วมกับทางกระทรวงสาธารณสุข ข้อมูลของปี 2567 พบการเบิกจ่ายงบของ สธ.ทั้งหมด 3,700 ล้านบาท คาดว่ามีเงินเหลือพอที่จะจ่ายให้กับบุคลากรได้ และต่อมาเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2568 สำนักงบประมาณได้ตอบกลับมาว่า มีเงินเหลือและสามารถเบิกจ่ายให้ได้ แต่จะต้องให้กระทรวงสาธารณสุขส่งเรื่องไปที่สำนักงบประมาณ เพื่อให้สำนักงบฯ พิจารณา และส่งไปให้ ครม. อีกครั้งเพื่ออนุมัติเบิกจ่ายให้กับบุคลากร

    ล่าสุดหลังจากที่ไปประชุม สป.สัญจร เราได้สอบถามความคืบหน้ากับ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (ผอ.สนย.) แล้ว โดยได้ส่งเรื่องตอบกลับให้สำนักงบประมาณอีกครั้งตามข้อแนะนำแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานของสำนักงบประมาณ

    “ผมเข้าใจและเห็นใจบุคลากร ตั้งแต่เรื่องนี้เกิดขึ้นมาไม่ได้สบายใจ เพราะรู้สึกว่าเงินค่าเสี่ยงภัยเป็นขวัญกำลังใจของบุคลากรในการทำงาน ซึ่งเราก็ได้เร่งทุกทาง ทั้ง รมว.สธ. , ปลัดสธ. รวมถึงผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ท่านก็ประสานช่วยเต็มที่ แต่บางทีก็อยู่ในกระบวนการการทำตามขั้นตอน เราเห็นใจบุคลากรทุกคนเพราะเราอยากให้ทุกคนได้รับค่าเสี่ยงภัยโดยเร็ว แม้จะเคยโดนด่า โดนว่าบ้างแต่ไม่ได้รู้สึกโกรธ เพราะเห็นใจ”นพ.ปฐมพงศ์ กล่าว

     

     ข่าวเกี่ยวข้อง :สธ.จ่ายเงิน ‘เสี่ยงภัยโควิด’ ในสังกัดครบ! เว้น “อำนาจเจริญ”  นอกสังกัดต้องถามเจ้าของหน่วยงาน(คลิป)  

    presscomdivi Sun, 06/15/2025 - 10:01